ว่าง
ในสมัยต่อมา หลวงพ่อเบธ พร้อมด้วยพระสหธรรมิกอีกสองรูป และคฤหัสถ์หลายคนด้วยกัน เข้านมัสการหลวงปู่
หลังจากหลวงปู่ได้แนะนำข้อปฏิบัติแก่ผู้ที่เข้ามาใหม่แล้ว หลวงพ่อเบธถามถึงข้อปฏิบัติที่หลวงปู่แนะเมื่อ คราวที่แล้ว ว่าการปล่อยวางอารมณ์นั้น ทำได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว หรือชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ไม่อาจให้อยู่ได้เป็น เวลานาน
หลวงปู่ว่า “แม้ที่ว่าปล่อยวางอารมณ์ได้ชั่วขณะหนึ่งนั้น ถ้าสังเกตจิตไม่ดี หรือสติไม่สมบูรณ์เต็มที่แล้ว ก็อาจเป็นได้ว่า ละจากอารมณ์หยาบไปอยู่กับอารมณ์ละเอียดก็ได้ จึงต้องหยุดความคิดทั้งปวงเสีย แล้วปล่อยจิต ให้ตั้งอยู่บนความ ไม่มีอะไรเลย”

ไม่ค่อยแจ่ม
กระผมได้อ่านประวัติการปฏิบัติธรรมของหลวงปู่เมื่อสมัยเดินธุดงค์ว่า หลวงปู่เข้าใจเรื่องจิตได้ดีว่า จิตปรุงกิเลส หรือว่ากิเลสปรุงจิต ข้อนี้หมายความว่าอย่างไร
หลวงปู่อธิบายว่า
“จิตปรุงกิเลสคือ การที่จิตบังคับให้กาย วาจา ใจ กระทำสิ่งภายนอก ให้มี ให้เป็น ให้ดี ให้เลว ให้เกิดวิบากได้ แล้วยึดติดอยู่ว่า นั่นเป็นตน ของเรา ของเขา กิเลสปรุงจิตคือ การที่สิ่งภายนอกเข้ามาทำให้จิตเป็นไปตามอำนาจของมัน แล้วยึดว่ามีตัว มีตนอยู่ สำคัญผิดจากความเป็นจริงอยู่ร่ำไป”

รู้จากการเรียนกับรู้จากการปฏิบัติ
ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ ที่กระผมจำจากตำราและฟังครูสอนนั้น จะตรงกับเนื้อหาตามที่หลวงปู่เข้าใจหรือ ฯ
หลวงปู่อธิบายว่า “ศีล คือ ปรกติจิตที่อยู่ปราศจากโทษ เป็นจิตที่มีเกาะกำบัง ป้องกันการกระทำชั่วทุกอย่าง สมาธิ คือ ผลสืบเนื่องมาจากการรักษาศีล คือจิตที่มีความมั่นคง มีความสงบเป็นพลัง ที่จะส่งต่อไปอีก ปัญญา ผู้รู้ คือ จิตที่ว่าง เบาสบาย รู้แจ้งแทงตลอดตามความเป็นจริงอย่างไร วิมุติ คือ จิตที่เข้าถึงความว่าง จากความว่าง คือ ละความสบาย เหลือแต่ความไม่มี ไม่เป็น ไม่มีความคิดเหลืออยู่เลย”

อุบายคลายความยึด
เมื่อกระผมทำความสงบให้เกิดขึ้นแล้ว ก็พยายามรักษาจิตให้ดำรงอยู่ในความสงบนั้นด้วยดี แต่ครั้งกระทบ กระทั่งกับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จิตก็มักจะสูญเสียสถานะที่พยายามธำรงไว้นั้นร่ำไป
หลวงปู่ว่า “ถ้าเช่นนั้น แสดงว่าสมาธิของตนเองยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอ ถ้าเป็นอารมณ์แรงกล้าเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ อารมณ์ที่เป็นจุดอ่อนของเราแล้ว ต้องแก้ด้วยวิปัสสนาวิธี จงเริ่มต้นด้วยการพิจารณาสภาวธรรมที่หยาบ ที่สุด คือ กายแยกให้ละเอียด พิจารณาให้แจ่มแจ้ง ขยับถึงพิจารณานามธรรม อะไรก็ได้ทีละคู่ ที่เราเคยแยก พิจารณามาก็มี ความดำความขาว ความมืดความสว่าง เป็นต้น”

เรื่องกิน
กระผมได้ปฏิบัติทางจิตมานาน ก็พอมีความสงบอยู่บ้าง แต่มีปัญหาทางอาหารบริโภคเนื้อสัตว์คือ เพียงแต่ เห็นก็นึกเวทนาไปถึงเจ้าของเนื้อนั้น ว่าเขาต้องสูญเสียชีวิตเพื่อเราผู้บริโภคแท้ ๆ คล้ายกับว่าเราผู้ปฏิบัติขาดเมตตา ไปมาก เมื่อเกิดความกังวลใจเช่นนี้ ก็ทำความสงบใจได้ยาก
หลวงปู่ว่า “ภิกษุจะบริโภคปัจจัยสี่ต้องพิจารณาเสียก่อน เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ คล้ายเป็นการเบียด เบียนและขาดเมตตาต่อสัตว์ ก็ให้งดเว้นการฉันเนื้อเสีย พากันฉันอาหารเจต่อไป”

เรื่องกินมีอีก
สมัยต่อมาประมาณสี่เดือน ภิกษุกลุ่มนั้นมากราบเรียนหลวงปู่อีกหลังจากออกพรรษาแล้วบอกว่าพวกกระผม ฉันเจมาตลอดพรรษาด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง เพราะญาติโยมแถวบ้าน โคกกลางอำเภอปราสาทนั้น ไม่มีใครรู้ เรื่องอาหารเจเลย ลำบากด้วยการแสวงหา และลำบากแก่ ญาติโยมผู้อุปัฏฐาก บางรูปถึงสุขภาพไม่ดี บางรูปเกือบไม่ พ้นพรรษา การทำความเพียรก็ไม่เต็มที่เท่าที่ควร
“ภิกษุเมื่อจะบริโภคปัจจัยสี่ต้องพิจารณาเสียก่อน ครั้นเมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่าอาหารที่ตั้งอยู่เฉพาะหน้านี้ แม้จะมีผักบ้างเนื้อบ้าง ปลาบ้างข้าวสุกบ้าง แต่ก็เป็นของบริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และเขาไม่ได้ ฆ่าเพื่อเจาะจงเรา และเราก็แสวงหามาโดยชอบธรรมแล้ว ญาติโยมเขาก็ถวายด้วยศรัทธาเลื่อมใส แล้วก็พึงบริโภค อาหารนั้นไป ครูบาอาจารย์ของเราท่านก็ ปฏิบัติอย่างนี้มาแล้วเหมือนกัน”