พระบรมสารีริกขธาตุ

พระบรมสารีริกธาตุ คือ ธาตุที่เกิดหลงเหลือหลังจากการถวายพระเพลิงสรีระสังขารขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับชาวพุทธแล้วนนั้นพระบรมสารีริกธาตุเป็นสิ่งสูงค่ายิ่งโยชน์ยากจะประเมินได้ สูงค่ากว่าทุกปูชนียสถานและปูชนียวัตถุใดในโลกนี้ เพราะเป็นสิ่งเดียวที่เกิดจากพระวรกายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ชาวพุทธมีคติความเชื่อว่าในการสร้างพุทธเจดีย์จะสำเร็จลุล่วงสมบูรณ์เมื่อได้พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้ามาบรรจุไว้ในเจดีย์บรจุไว้ ซึ่งพระเจดีย์หรือพุทธเจดีย์มีการแบ่งเป็นชนิดประเภทต่างๆ ได้ 4 ประเภท คือ
1. ธาตุเจดีย์ คือ เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระธาตุจากร่างของพระอรหันต์ เช่น พระปฐมเจดีย์ เจดีย์พระธาตุพนม เจดีย์พระธาตุดอยสุเทพ เจดีย์พระบรมบรรพต(ภูเขาทอง)
2. บริโภคเจดีย์ คือ เจดีย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น เจดีย์สังเวชนียสถาน 4 ตำบล เจดีย์ ณ สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฎิหาริย์ เจดีย์ ณ สถานที่บรรจุพระอังคาร เจดีย์ ณ สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เจดีย์ ณ สถานที่บรรจุทะนานโลหิตที่ตวงพระธาตุ เจดีย์ที่มีการนำพระศรีมหาโพธิ์ไปปลูก เป็นต้น
3. ธรรมเจดีย์ คือ สิ่งจารึกพระธรรมไว้บูชา พระไตรปิฎกก็ถือเป็นธรรมเจดีย์เพราะเป็นการจารึกข้อธรรม
4. อุเทสิกเจดีย์ คือ สิ่งระลึกถึงพระรัตนตรัย ไม่มีการกำหนดรูปแบบ เช่น พระพุทธรูป พระผง พระเครื่อง พระพุทธบาท(จำลอง) ฯลฯ

พุทธคยา
เจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุมีความสำคัญต่อชาวพุทธซึ่งมีประเพณีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เช่น ประเพณีแห่ผ้าขึ้นพระธาตุ ประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุ การสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ เป็นต้น ดังในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชการที่ 2 ตอนหนึ่งที่ได้กล่าวถึงการสมโภชพระบรมสารีริกธาตุไว้ว่า

“ถึง ณ วันเสาร์ เดือน 6 ขึ้น 5 ค่ำ เชิญพระบรมสารีริกธาตุแต่ในพระบรมมหาราชวังตั้งกระบวนแห่ออกไปยังพระเมรุมาศ ประดิษฐานพระเบญจาทอง พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรม เปรียญฝ่ายคามวาสี อรัญวาสี 80 รูป เจริญพระพุทธมนต์ มีหนัง จุดดอกไม้เพลิง เป็นการสมโภชพระบรมสารีริกธาตุวันหนึ่งคืนหนึ่ง…เวลาบ่ายทิ้งทานเวลาค่ำ จึงแห่พระบรมสารีริกธาตุกลับเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง”