ทำโดยกิริยา
บางครั้งอาตมาภาพมานึกไม่สบายใจ เกรงว่าตัวเองจะมีบาป ที่เป็นผู้มีส่วนทำหลวงปู่ต้องข้องแวะเกี่ยวกับสิ่ง ที่ท่านไม่สนใจหรือไม่ถนัดใจครั้งแรก คือ วันนั้นหลวงปู่ไปร่วมงานเปิด พิพิธภัณฑ์บริขารท่านอาจารย์มั่น ที่วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร มีพระเถระฝ่ายวิปัสสนามาก ประชาชนก็มาก เขาเหล่านั้นจึงถือโอกาสเข้าหาครูบา อาจารย์ทั้งเพื่อกราบเพื่อขอ จึงมีหลายคนที่มาขอให้หลวงปู่เป่าหัว เมื่อเห็นท่านเฉยอยู่ จึงขอร้องท่านว่า หลวงปู่เป่า ให้เขาให้แล้ว ๆ ไป ท่านจึง เป่าให้ ต่อมาเมื่อเสียไม่ได้ก็เจิมรถให้เขา ทนอ้อนวอนไม่ได้ก็อนุญาตให้เขาทำเหรียญ อดสงสาร ไม่ได้ก็จุดเทียนชัยให้ และเข้าพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคล
แต่ก็มีความสบายใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อฟังคำหลวงปู่ว่า
“การกระทำของเราในสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงกิริยากายภายนอกที่เป็นไปในสังคม หาใช่เป็น กิริยาจิตที่นํ้าไปสู่ ภพภูมิ หรือมรรคผลนิพพานแต่ประการใดไม่”

ปรารภธรรมะให้ฟัง
คำสอนทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น เป็นเพียงอุบายให้คนทั้งหลายหันมาดูจิตนั่นเอง คําสอนของพระพุทธ องค์มีมากมาย ก็เพราะกิเลสมีมากมาย แต่ทางที่ดับทุกข์ได้มีทางเดียว พระนิพพาน การที่เรามีโอกาสปฏิบัติธรรม ที่ถูกทางเช่นนี้มีน้อยนัก หากปล่อยโอกาสให้ผ่านไป เราจะหมดโอกาสพ้นทุกข์ได้ทันในชาตินี้ แล้วจะต้องหลงอยู่ ในความเห็นผิดอีกนานแสนนาน เพื่อจะพบธรรมอันเดียวกันนี้ ดังนั้น เมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว รีบปฏิบัติ ให้หลุดพ้นเสีย มิฉะนั้นจะเสียโอกาสอันดีนี้ไป เพราะว่าเมื่อสัจธรรมถูกลืม ความมืดมนย่อมครอบงำปวงสัตว์ให้อยู่ใน กองทุกข์สิ้นกาลนาน

ปรารภธรรมะให้ฟัง
มิใช่ครั้งเดียวเท่านั้นที่หลวงปู่เปรียบเทียบธรรมะให้ฟัง มีอยู่อีกครั้งหนึ่งหลวงปู่ว่า
“ปัญญาภายนอกคือปัญญาสมมุติ ไม่ทำให้จิตแจ้งในพระนิพพานได้ ต้องอาศัยปัญญาอริยมรรคจึงจะเข้าถึง พระนิพพานได้ ความรู้ของนักวิทยาศาสตร ์เช่น ไอน์สไตน์ มีความรู้มาก มีความสามารถมาก แยกปรมาณูที่เล็กที่สุด จนเข้าถึงมิติที่ ๔ แล้ว แต่ไอน์สไตน์ไม่รู้จัก พระนิพพาน จึงเข้าพระนิพพานไม่ได้ จิตที่แจ้งในอริยมรรคเท่านั้นจึง เป็นไปเพื่อการตรัสรู้จริง ตรัสรู้ยิ่ง ตรัสรู้พร้อม เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เป็นไปเพื่อนิพพาน”

วิธีระงับดับทุกข์แบบหลวงปู่
ระหว่าง พ.ศ.๒๕๒๐ โลกธรรมฝ่ายอนิฏฐารมณ์ กำลังครอบงำข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย อย่างหนัก คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา และทุกข์ แน่นอนความทุกข์โศก อันนี้ย่อมปกคลุมถึงบุตรภรรยาด้วย
จึงมีอยู่วันหนึ่ง คุณหญิงคุณนายหลายท่านได้ไปนมัสการหลวงปู่ พรรณาถึงความทุกข์โศก ที่กำลังได้รับอยู่ เพื่อให้หลวงปู่ได้แนะวิธีช่วยเหลืออย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่ท่านจะเมตตา
หลวงปู่ว่า “บุคคลไม่ควรเศร้าโศกอาลัยอาวรณ์ถึงสิ่งนอกกายทั้งหลายที่มันผ่านพ้นไปแล้ว มันหมดไปแล้ว เพราะสิ่งเหล่านั้น มันได้ทำหน้าที่ของมันอย่างถูกต้องโดยสมบูรณ์ที่สุดแล้ว”

เมื่อกล่าวถึงสัจธรรมแล้วย่อมลงสู่กระแสเดียวกัน
มีท่านผู้คงแก่เรียนหลายท่านชอบถามว่า คำกล่าวหรือเทศน์ของหลวงปู่ ดูคล้ายนิกายเซ็นหรือคล้ายมาจาก สูตรเว่ยหล่าง เป็นต้น อาตมาเรียนถามหลวงปู่ก็หลายครั้ง ในที่สุดท่านก็กล่าว อย่างเป็นกลางว่า
“สัจธรรมทั้งหมดมีอยู่ประจำโลกอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัจธรรมนั้นแล้ว ก็นำมาสั่งสอนสัตว์โลก เพราะอัธยาศัยของสัตว์ไม่เหมือนกัน หยาบบ้างประณีตบ้าง พระองค์จึงเปลือง คำสอนไว้มากถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เมื่อนักปราชญ์ฉลาดสรรหาคำพูดให้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อจะอธิบายสัจธรรมด้วยกัน เราย่อมจะ ต้องอาศัยแนวทางในสัจธรรมนั้น ที่ตนเองไตร่ตรอง เห็นแล้วว่าถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุดนำแผ่ออกไปอีก โดยไม่ได้คำนึงถึงคำพูด หรือไม่ได้ยึดติดใน อักขระ พยัญชนะตัวใดเลยแม้แต่น้อยเดียว”

ละเอียด
หลวงพ่อเบธ วัดป่าโคกหม่อน ได้เข้าสนทนาธรรม ถึงการปฏิบัติทางสมาธิภาวนา เล่าถึงผลการปฏิบัติขั้นต่อๆ ไปว่า ได้บำเพ็ญสมาธิภาวนามานาน ให้จิตเข้าถึงอัปปนาสมาธิได้เป็นเวลานาน ๆ ก็ได้ ครั้นถอยจากสมาธิออกมา บางทีก็เกิดความสุขเอิบอิ่มอยู่เป็นเวลานาน บางทีก็เกิด ความสว่างไสว เข้าใจสรรพางค์กายได้อย่างครบถ้วน มีอะไรต้องปฏิบัติต่อไปอีก
หลวงปู่ว่า “อาศัยพลังอัปปนาสมาธินั่นแหละ มาตรวจสอบจิต แล้วปล่อยวางอารมณ์ทั้งหมด อย่าให้ เหลืออยู่”