ปรารภธรรมะให้ฟัง
จบพระไตรปิฎกหมดแล้ว จำพระธรรมได้มากหลาย พูดเก่งอธิบายได้อย่างซาบซึ้ง มีคนเคารพนับถือมาก ทำการก่อสร้างวัตถุไว้ได้อย่างมากมาย หรือสามารถอธิบายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้อย่างละเอียดแค่ไหนก็ตาม “ถ้ายังประมาทอยู่ ก็นับว่ายังไม่ได้รับรสชาติของพระศาสนาแต่ประการใดเลย เพราะสิ่งเหล่านี้ยังเป็นของภายนอก ทั้งนั้น เมื่อพูดถึงประโยชน์ ก็เป็นประโยชน์ภายนอก คือเป็นไปเพื่อสงเคราะห์สังคม เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น เพื่อสงเคราะห์อนุชนรุ่นหลัง หรือเป็นสัญญาลักษณ์ของศาสนวัตถุ ส่วนประโยชน์ของตนที่แท้นั้น คือ ความพ้นทุกข์ “จะพ้นทุกข์ได้ก็ต่อเมื่อ รู้จิตหนึ่ง”

คิดไม่ถึง
สำนักปฏิบัติแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสาขาของหลวงปู่นั่นเอง อยู่ด้วยกันเฉพาะพระประมาณห้าหกรูปอยากจะ เคร่งครัดเป็นพิเศษ ถึงขั้นสมาทานไม่พูดกันตลอดพรรษา คือไม่ให้มีเสียงเป็นคำพูดออกจากปากใคร ยกเว้น การสวดมนต์ทำวัตร หรือสวดปาฏิโมกข์เท่านั้น ครั้นออกพรรษาแล้วพา กันไปกราบหลวงปู่เล่าถึงการปฏิบัติ ิอย่างเคร่งของพวกตนว่า นอกจากปฏิบัติข้อวัตรอย่างอื่นแล้ว สามารถหยุดพูดได้ตลอดพรรษาอีกด้วย
หลวงปู่ฟังแล้วยิ้มหน่อยหนึ่ง พูดว่า
“ดีเหมือนกัน เมื่อไม่พูดก็ไม่มีโทษทางวาจา แต่ที่ว่าหยุดพูดได้นั้น เป็นไปไม่ได้หรอก นอกจาก พระอริยบุคคลผู้เข้านิโรธสมาบัติชั้นละเอียด ดับสัญญาเวทนาเท่านั้นแหละที่ไม่พูดได้นอกนั้น พูดทั้งวันทั้งคืน ยิ่งพวกที่ตั้งปฏิญาณว่าไม่พูดนั่นแหละยิ่งพูดมากกว่าคนอื่น เพียงแต่ไม่ออกเสียงให้คนอื่นได้ยินเท่านั้นเอง”

อย่าตั้งใจไว้ผิด
นอกจากหลวงปู่จะนำปรัชญาธรรมที่ออกจากจิตของท่านมาสอนแล้ว โดยที่ท่านเคยอ่านพระไตรปิฏกจบ มาแล้ว ตรงไหนที่ท่านเห็นว่าสำคัญและเป็นการเตือนใจในทางปฏิบัติให้ตรงและลัดที่สุด ท่านก็จะยกมากล่าวเตือน อยู่เสมอ เช่น หลวงปู่ยกพุทธพจน์ตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลายพรหมจรรย์นี้ เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อให้คนมานิยมนับถือ มิใช่เพื่อ อานิสงส์ลาภสักการะและสรรเสริญ มิใช่อานิสงส์เป็นเจ้าลัทธิ หรือแก้ลัทธิอย่างนั้นอย่างนี้ ที่แท้พรหมจรรย์นี้เราประพฤติเพื่อสังวระ ความสำรวม เพื่อปหานะ ความละ เพื่อวิราคะ ความหายกําหนัด ยินดี และเพื่อนิโรธะ ความดับทุกข์ ผู้ปฏิบัติและนักบวชต้องมุ่งตามแนวทางนี้ นอกจากแนวทางนี้แล้ว ผิดทั้งหมด”

พระพุทธพจน์
หลวงปู่ว่า ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ตราบนั้นย่อมมีทิฏฐิ และเมื่อมีทิฏฐิแล้วยากที่จะเห็นตรงกัน เมื่อเห็นไม่ตรงกัน ก็เป็นเหตุให้โต้เถียงวิวาทกันอยู่ร่ำไป สำหรับพระอริยเจ้าที่เข้าถึงธรรมแล้ว ก็ไม่มีอะไรสําหรับมา โต้แย้งกับใคร ใครจะมีทิฏฐิอย่างไร ก็ปล่อยเป็นเรื่องของเขาไป ดังพุทธพจน์ตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดอันบัณฑิตทั้งหลายในโลกกล่าวว่ามีอยู่ แม้เราตถาคตก็กล่าวสิ่งนั้นว่ามีอยู่ สิ่งใดอัน บัณฑิตทั้งหลายในโลกกล่าวว่าไม่มี แม้เราตถาคตก็กล่าวสิ่งนั้นว่าไม่มี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่วิวาท โต้เถียงกับโลก แต่โลกย่อมวิวาทโต้เถียงกับเรา”

ผู้ไม่มีโทษทางวาจา
เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ หลวงปู่กำลังอาพาธหนัก พักรักษาอยู่ที่ห้องพระราชทาน ตึกจงกลณี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลวงปู่สาม อกิญจโณ เดินทางไปเยี่ยมหลวงปู่ถึงห้องพยาบาล ขณะนั้นหลวงปู่กำลัง นอนพักผ่อนอยู่ เมื่อหลวงปู่สาม ขยับไปนั่งใกล้ชิดแล้วก็ยกมือไหว้ หลวงปู่ดูลย์ก็ยกมือรับไหว้ แล้วต่างองค์ก็นั่ง อยู่เฉยตลอดระยะเวลานาน เมื่อสมควรแก่เวลาอย่างยิ่งแล้ว หลวงปู่สามประนมมืออีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับจำนรรจาว่า “กระผมกลับก่อน” หลวงปู่ดูลย์ว่า “อือ” ตลอดเวลาเกือบสองชั่วโมง ได้ยินเพียงแค่นี้เอง
เมื่อหลวงปู่สามกลับไปแล้ว อดที่จะถามไม่ได้ว่า หลวงปู่สามอุตส่าห์มานั่งตั้งนาน ทำไมหลวงปู่จึงไม่ ไม่สนทนา พูดอะไรกับท่านบ้าง
หลวงปู่ตอบว่า “ธุระมันหมดแล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องพูดอะไร”

ขันติบารมี
เท่าที่อยู่ใกล้ชิดกับหลวงปู่ตลอดเวลาอันยาวนาน ไม่เคยเห็นท่านแสดงอากัปกิริยาใด ๆ ให้เห็นว่า ท่านอึดอัดหรือรำคาญจนทนไม่ได้ถึงต้องบ่นอุบอิบอู้อี้กับกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น เช่น ไปเป็นประธานในงานสถานที่ใดๆ ไม่เคยเป็นเจ้ากี้เจ้าการ รื้อฟื้น หรือให้เขาจัดแจงดัดแปลงใหม่ หรือไปในสถานที่ที่เป็นกิจนิมนต์ แม้จะต้องนั่งนาน หรืออากาศอบอ้าวอย่างไร ก็ไม่เคยบ่น ฯ เวลาเจ็บไข้ไม่สบาย หรือเวลาเผอิญอาหารมาไม่ตรงต่อเวลา แม้จะหิว กระหายแค่ไหน ก็ไม่เคยบ่นหรือสำออย หรือแม้รสชาติอาหารจะจืดจางอย่างไร ก็ไม่เคยเรียกหาเครื่องปรุงเพิ่มเติม อะไรเลย ตรงกันข้าม ถ้าเห็นพระเถระไหนชอบเป็นเจ้ากี้เจ้าการ ขี้บ่น หรือทำสำออย ให้คนอื่นเอาใจเป็นต้น หลวงปู่มักปรารภให้ฟังว่า
“แค่นี้อดทนไม่ได้หรือ ถ้าแค่นี้อดทนไม่ได้ จะเอาชนะกิเลสตัณหาได้อย่างไร”