หลวงปู่เตือนพระผู้ประมาท
ภิกษุผู้อยู่ด้วยความประมาท คอยนับจำนวนศีลของตนแต่ในตำรา คือ มีความพอใจภูมิใจกับจำนวนศีลที่มี อยู่ในคัมภีร์ ว่าตนนั้นมีศีลถึง ๒๒๗ ข้อ “ส่วนที่ตั้งใจปฏิบัติให้ได้นั้น จะมีสักกี่ข้อ”
จริง แต่ไม่จริง
ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทำสมาธิภาวนา เมื่อปรากฏผลออกมาในแบบต่างๆ ย่อมเกิดความสงสัย ขึ้นเป็นธรรมดา เช่น เห็นนิมิตในรูปแบบที่ไม่ตรงกันบ้าง ปรากฏในอวัยวะร่างกายของตนเองบ้าง ส่วนมากมากราบเรียนหลวงปู่เพื่อ ให้ช่วยแก้ไข หรือแนะอุบายปฏิบัติต่อไปอีก มีจำนวนมากที่ ถามว่า ภาวนาแล้วก็เห็น นรก สวรรค์วิมานเทวดา หรือไม่ก็เป็น องค์พุทธรูปปรากฏอยู่ในตัวเรา สิ่งที่เห็นเหล่านี้เป็นจริงหรือ ฯ
หลวงปู่บอกว่า “ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง”
แนะวิธีละนิมิต
ถามหลวงปู่ต่อมาอีกว่า นิมิตทั้งหลายแหล่ หลวงปู่บอกว่ายังเป็นของภายนอกทั้งหมด จะเอามาทำอะไรยังไม่ได้ ถ้าติดอยู่ในนิมิตนั้นก็ยังอยู่แค่นั้น ไม่ก้าวต่อไปอีก จะเป็นด้วยเหตุที่กระผมอยู่ในนิมิตนี้ มานานหรืออย่างไร จึงหลีกไม่พ้น นั่งภาวนาทีไรพอจิตจะรวมสงบก็เข้าถึงภาวะนั้นทันที หลวงปู่โปรดได้แนะวิธีละ นิมิตด้วยว่า ทำอย่างไรจึงจะได้ผล
หลวงปู่พูดว่า “เออ นิมิตบางอย่างมันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นมันก็เสียเวลาเปล่า วิธีละได้ง่าย ๆ ก็คือ อย่าไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น ให้ดูผู้เห็น แล้วสิ่งที่ไม่อยากเห็นนั้นก็จะหายไปเอง”
เป็นของภายนอก
เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๒๔ หลวงปู่อยู่ในงานประจำปีวัดธรรมมงคล สุขุมวิท กรุงเทพฯ มีแม่ชีพราหมณ์ หลายคนจากวิทยาลัยครู พากันเข้าไปถามทำนองรายงานผลของ การปฏิบัติวิปัสสนาให้หลวงปู่ฟังว่า เขานั่งวิปัสสนา จิตสงบแล้ว เห็นองค์พระพุทธรูปอยู่ใน หัวใจของเขา บางคนว่าได้เห็นสวรรค์ เห็นวิมานของตัวเองบ้าง บางคนว่าเห็น พระจุฬามณี เจดีย์สถานบ้าง พร้อมทั้งภูมิใจว่าเขาวาสนาดี ทำวิปัสสนาได้สำเร็จฯ หลวงปู่อธิบายว่า
“สิ่งที่ปรากฏเห็นทั้งหมดนั้น ยังป็นของภายนอกทั้งสิ้น จะนำเอามาเป็นสาระ ที่พึ่งอะไรยังไม่ได้หรอก”
หยุดเพื่อรู้
เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๐๗ มีพระสงฆ์หลายรูป ทั้งฝ่ายปริยัติ และฝ่ายปฏิบัติ ได้เข้ากราบหลวงปู่เพื่อรับ โอวาทและรับฟังการแนะแนวทางธรรมะที่จะพากันออกเผยแผ่ธรรมทูตครั้งแรก หลวงปู่แนะวิธีอธิบายธรรมะขั้น ปรมัตถ์ ทั้งเพื่อสอนผู้อื่น และเพื่อปฏิบัติตนเองให้เข้าถึงสัจธรรม นั้นด้วย ลงท้ายหลวงปู่ได้กล่าวปรัชญาธรรมไว้ให้ ้คิดด้วยว่า
“คิดเท่าไรๆ ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดได้จึงรู้ แต่ต้องอาศัยความคิดนั่นแหละจึงรู้”
ทั้งส่งเสริมทั้งทำลาย
กาลครั้งนั้น หลวงปู่ได้ให้โอวาทเตือนพระธรรมทูตครั้งแรกมีใจความตอนหนึ่งว่า “ท่านทั้งหลาย การที่จะออกจาริกไปเพื่อเผยแผ่ ประกาศพระศาสนานั้น เป็นได้ทั้งส่งเสริมพระศาสนาและทำลายพระศาสนา ที่ว่าเช่นนี้เพราะองค์ธรรมทูตนั้นแหละตัวสำคัญ คือ เมื่อไปแล้วประพฤติตัวเหมาะสม มีสมณสัญญา จริยาวัตร งดงามตามสมณวิสัยผู้ที่ได้พบเห็น หากยังไม่เลื่อมใสก็จะเกิดความเลื่อมใสขึ้น ส่วนผู้ที่เลื่อมใสแล้วก็ยิ่งเพิ่มความ เลื่อมใสมากขึ้นเข้าไปอีก
ส่วนองค์ที่มีความประพฤติและวางตัวตรงกันข้ามนี้ ย่อมทำลายผู้ที่เลื่อมใสแล้วให้ถอยศรัทธาลง สำหรับผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสเลย ก็ยิ่งถอยห่างออกไปอีก จึงขอให้ทุกท่านจงเป็นผู้พร้อม ไปด้วยความรู้และ ความประพฤติ ไม่ประมาท สอนเขาอย่างไร ตนเองต้องทำอย่างนั้นให้ได้เป็นตัวอย่างด้วย”
เมื่อถึงปรมัตถ์แล้วไม่ต้องการ
ก่อนเข้าพรรษาปี ๒๔๙๖ หลวงพ่อเถาะ ซึ่งเป็นญาติของหลวงปู่ และบวชเมื่อวัยชราแล้ว ได้ออกธุดงค์ ติดตามท่านอาจารย์เทสก์ ท่านอาจารย์สาม ไปอยู่จังหวัดพังงาหลายปี กลับมาเยี่ยม นมัสการหลวงปู่ เพื่อศึกษา ข้อปฏิบัติทางกัมมัฏฐานต่อไปอีกจนเป็นที่พอใจ แล้วหลวงพ่อเถาะ พูดตามประสาความคุ้นเคยว่า หลวงปู่สร้างโบสถ์ ศาลาได้ใหญ่โตสวยงามอย่างนี้ คงจะได้บุญได้กุศลอย่างใหญ่โตทีเดียว
หลวงปู่กล่าวว่า
“ที่เราสร้างนี้ก็สร้างเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์สำหรับโลก สำหรับวัดวา ศาสนา เท่านั้นแหละ ถ้าพูดถึงเอาบุญ เราจะมาเอาบุญอะไรอย่างนี้”
เป็นการดัดนิสัยหรือเปล่า
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองผ่านพ้นไปแล้วเป็นเวลา ๖ ปี ผลได้ที่สงครามฝากไว้ให้ก็คือ ความยากจนข้นแค้น แสนเข็ญ ด้วยขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค ได้แผ่ปกคลุมไปแล้วทุก หย่อมหญ้า โดยเฉพาะเครื่องนุ่งห่มขาดแคลน อย่างยิ่ง พระเณรในวัดต่างๆ มีสบง จีวร ชุดเดียว ก็บุญหนักหนาแล้ว พวกเราเป็นสามเณรอยู่กับหลวงปู่หลายรูป
วันหนึ่ง สามเณรพรม ซึ่งเป็นหลานหลวงปู่รูปหนึ่งด้วย เขาเห็นสามเณรชุมพลห่มจีวรใหม่และสวย จึงถามว่า จีวรนี้ท่านได้แต่ไหนมา สามเณรชุมพลตอบว่า เราเข้าไปทำวาระถวายหลวงปู่ หลวงปู่เห็นของเราขาด ท่านจึงประทาน ให้มาฝืนหนึ่ง
เมื่อถึงวาระเณรพรม จึงห่มจีวรขาดไปนวดเท้าหลวงปู่ ด้วยคิดว่าจะได้อย่างเขาบ้าง พอเสร็จวาระกำลังจะ ออกมา หลวงปู่เห็นจีวรขาด คงจะสงสารหลานอย่างจับใจ จึงลุกไปเปิดตู้หยิบเอาของ มายื่นให้ พร้อมกับสั่งว่า
“นี่เอาไปเย็บให้ดี อย่าห่มทั้งที่ขาดอย่างนี้”
สามเณรพรมต้องจำใจรับด้ายกับเข็มจากหลวงปู่อย่างรวดเร็ว ด้วยความผิดหวัง