ไม่เบียดเบียนแม้ทางวาจา
หลวงปู่กล่าววาจาบริสุทธิ์ เพราะท่านกล่าวเฉพาะวาจาที่เป็นประโยชน์ และไม่ทำให้ตนและผู้อื่นเดือดร้อน เพราะคำพูดของท่านแม้จะมีผู้ใดมาพูด เป็นเหตุที่จะชวนให้ท่านวิพากษ์วิจารณ์ ใคร ๆ ให้ฟังสักอย่าง ท่านก็ไม่เคย คล้อยตาม
หลายครั้งที่มีผู้ถามท่านว่า หลวงปู่ ทำไมพระนักพูดนักเผยแผ่ระดับประเทศ บางองค์เวลาพูดหรือเทศน์ชอบ พูดโจมตีคนอื่น พูดเสียดสีสังคม หรือพูดกระทบกระแทกพระเถระด้วยกัน เป็นต้น พระพูดในลักษณะนี้จ้างผมก็ ไม่นับถือดอก
หลวงปู่ว่า “ก็ท่านมีภูมิรู้ ภูมิธรรมอยู่อย่างนั้น ท่านก็พูดไปตามความรู้ความถนัดของท่านนั่นแหละ การจ้างให้นับถือ ไม่มีใครเขาจ้างหรอก เมื่อไม่อยากนับถือ ก็อย่าไปนับถือซิ ท่านคงไม่ว่าอะไรหรอก”
พระหลอกผี
ส่วนมากหลวงปู่ชอบแนะนำส่งเสริมพระเณรให้ใส่ใจเรื่องธุดงค์กัมมัฏฐานเป็นพิเศษเลย ครั้งหนึ่งพระสานุศิษย์มาชุมนุมกันจำนวนมาก ทั้งแก่พรรษาและอ่อนพรรษา หลวงปู่ชี้แนวทางว่า ให้พากันไปอยู่ป่า หาทางวิเวก หรืออยู่ตามถ้ำเพื่อเร่งความเพียร จะได้พ้นจากภาวะตกต่ำทางจิตบ้าง ยังมีพระรูปหนึ่งพูดออกมาพล่อย ๆ ว่า ผมไม่กล้าไปครับเพราะผมกลัวผีหลอก
หลวงปู่ตอบเร็วว่า “ผีที่ไหนเคยหลอกพระ มีแต่พระนั่นแหละหลอกผี และตั้งกระบวนการหลอกผีเป็นการใหญ่เสียด้วย คิดดูให้ดีนะ วัตถุสิ่งของที่ชาวบ้านเขาเอามาบริจาคทำบุญนั้น แทบทั้งหมดล้วนทำเพื่ออุทิศส่งไปให้ผี ีทั้งนั้นผีพ่อแม่ปู่ย่าตา ยายญาติพี่น้องเขา แล้วพระเราเล่าประพฤติตนเหมาะสมแล้วหรือ มีคุณธรรมอะไรบ้าง ที่จะส่งผลให้ถึงผีได้
“ระวังอย่ามาเป็นพระหลอกผี”
ดีเหมือนกัน………..แต่
นักปฏิบัติที่ตื่นอาจารย์ ตื่นสำนักใหม่ ๆ ในปัจจุบันนี้มีอยู่มาก นักนิยมหวยก็ตื่นอาจารย์บอกใบ้หวย นักนิยม ความศักดิ์สิทธิ์ยังมีอยู่ฉันใด นักวิปัสสนาก็ย่อมตื่นอาจารย์วิปัสสนาฉันนั้น ดังนั้น กลุ่มชนเหล่านี้จึงมีอยู่มิใช่น้อย เมื่อเขาชอบใจอาจารย์องค์ไหน เขาก็กล่าวยกย่ององค์นั้น ตลอดถึงชักชวนคนอื่นให้ช่วยนับถือหรือเห็นด้วยกับตน ยิ่งปัจจุบันนี้มีพระนักเทศน์ดัง ๆ มากที่อัดเทปขาย เผยแพร่ได้อย่างมากมาย มีอุบาสิกานักฟังผู้หนึ่งนำเทปนักเทศน์ ดังไปถวายให้หลวงปู่ฟังหลายม้วน แต่หลวงปู่ไม่ได้ฟัง เพราะตั้งแต่ท่านเกิดมายังไม่เคยมีวิทยุ มีเทปกับเขาเลยแม้แต่ ครั้งเดียว หรือสมมุติว่าถ้ามี ท่านก็คงเปิดฟังไม่เป็น ต่อมามีผู้เอาเครื่องเทปไปเปิดให้หลวงปู่ฟังจบหลายม้วน แล้วถาม ท่านว่าฟังแล้วเป็นอย่างไรบ้าง
หลวงปู่ว่า “ดีเหมือนกัน สำนวนโวหารสละสลวยน่าฟัง ทั้งรวยด้วยคำพูดแต่หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้ การฟังแต่ละ ครั้งนั้น ควรให้ได้อรรถรสของ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จึงจะเป็นสาระแก่นสาร”
นักปฏิบัติลังเลใจ
ปัจจุบันนี้ ศาสนิกชนผู้สนใจในการปฏิบัติฝ่ายวิปัสสนา มีความงวยงง สงสัยอย่างยิ่งในแนวทางปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้เริ่มต้นสนใจเนื่องจากคณาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาแนะแนวปฏิบัติไม่ตรงกัน ยิ่งกว่านั้นแทนที่จะอธิบายให้ เขาเข้าใจโดยความเป็นธรรม ก็กลับทำเหมือนไม่อยากจะยอมรับคณาจารย์อื่น สำนักอื่นว่าเป็นการถูกต้อง หรือถึงขั้น หมิ่นสำนักอื่นไปแล้วก็เคยมีไม่น้อย
ดังนั้น เมื่อมีผู้สงสัยทำนองนี้มากและเรียนถามหลวงปู่อยู่บ่อย ๆ จึงได้ยินหลวงปู่อธิบายให้ฟังอยู่เสมอว่า
“การเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนาภาวนานั้น จะเริ่มต้นโดยวิธีไหนก็ได้ เพราะผลมันเป็นอันเดียวกันอยู่แล้ว ที่ท่านสอนแนวปฏิบัติไว้หลายแนวนั้น เพราะจริตของคนไม่เหมือนกัน จึงต้องมีวัตถุ สี แสง และคำสำหรับบริกรรม เช่น พุทโธ อรหัง เป็นต้น เพื่อหาจุดใดจุดหนึ่งให้จิตรวมอยู่ก่อน เมื่อจิตรวมสงบแล้วคําบริกรรมนัั้นก็จะหายไปเอง แล้วก็ถึงรอยเดียวกัน รสเดียวกัน คือ มีวิมุติ เป็นแก่น มีปัญญา เป็นยิ่ง”
อยู่ ก็อยู่ให้เหนือ
ผู้ที่เข้านมัสการหลวงปู่ทุกคน และทุกครั้งมักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้หลวงปู่จะมีอายุใกล้ร้อยปีแล้ว ก็จริง แต่ดูผิวพรรณยังผ่องใส และสุขภาพอนามัยแข็งแรงดี แม้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดท่านตลอดมาก็ยากที่จะได้เห็นท่าน แสดงอาการหมองคล้ำ หรืออิดโรย หรือหน้านิ่วคิ้วขมวดออกมาให้ เห็น ท่านมีปรกติ สงบเย็น เบิกบานอยู่เสมอ มีอาพาธน้อย มีอารมณ์ดี ไม่ตื่นเต้นตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เผลอคล้อยตามคำสรรเสริญ หรือคำตำหนิติเตียน
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่ามกลางพระเถระฝ่ายวิปัสสนา สนทนาธรรมเรื่องการปฏิบัติกับหลวงปู่ ถึงปรกติจิต ที่อยู่เหนือความทุกข์ โดยลักษณาการอย่างไร
หลวงปู่ว่า “การไม่กังวล การไม่ยึดถือ นั่นแหละคือวิหารธรรมของนักปฏิบัติ”
ตื่นอาจารย์
นักปฏิบัติธรรมสมัยนี้มีสองประเภท ประเภทหนึ่ง เมื่อได้รับข้อปฏิบัติ หรือข้อแนะนำจากอาจารย์พอเข้าใจ แนวทางแล้ว ก็ตั้งใจเพียรพยายามปฏิบัติไปจนสุดความสามารถ อีกประเภทหนึ่ง ทั้งที่มีอาจารย์แนะนำดีแล้ว ได้ข้อ ปฏิบัติถูกต้องดีแล้ว แต่ก็ไม่ตั้งใจทำอย่างจริงจัง มีความเพียรต่ำ ขณะเดียวกันก็ชอบเที่ยวแสวงหาอาจารย์ไปใน สำนักต่าง ๆ ได้ยินว่าสำนักไหนดีก็ไปทุกแห่ง ซึ่งลักษณะนี้มีอยู่อย่างมาก
หลวงปู่เคยแนะนำลูกศิษย์ว่า
“การไปหลายสำนักหลายอาจารย์ การปฏิบัติจะไม่ได้ผลเพราะการเดินหลายสำนักนี้คล้ายกับการเริ่มต้น ปฏิบัติใหม่ไปเรื่อย ๆ เราก็ไม่ได้หลักธรรมที่แน่นอน บางทีก็เกิดความลังเล งวยงง จิตก็ไม่มั่นคง การปฏิบัติก็เสื่อม ไม่เจริญคืบหน้าต่อไป”